พบรัฐมนตรี พม. เสนอรัฐเร่งแก้ปัญหาเด็กเล็กอย่างเร่งด่วน

วันนี้นายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า ๓๐๑ องค์กร นำโดยคุณสุนี ไชยรส เข้าพบ​ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อมอบแจกันดอกไม้และยืนหนังสือเร่งนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี ถ้วนหน้า
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด ๑๙ ที่รุนแรงมากขึ้น มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เกิดคนจนใหม่และภาวะคนว่างงานเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กอายุ ๐-๖ ปีได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ีไม่มีเด็กเล็ก เช่น รายได้ลดมากกว่า ๘๑% และมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า ๕๐% เป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น เด็กเล็กเข้าไม่ถึงบริการด้านสวัสดิการสังคมและสาธารณสุข และการที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปิดส่งผลต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหาร ทุพโภชนาการ ปัญหาพัฒนาการทางร่างกาย สมองและการเรียนรู้ภาษา เสี่ยงต่อปัญหาความรุนแรงและที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งตอนนี้คือมีจำนวนเด็กเล็กที่ได้รับเชื้อโควิด ๑๙ เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาเรื่องนโยบายเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า และมีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันและช่วยเหลือเยียวยาได้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตที่ครอบครัวมีเด็กเล็กกำลังได้รับ ทั้งนี้ การให้สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า เป็นสวัสดิการพื้นฐานด้านการคุ้มครองทางสังคมแก่เด็กเล็ก ซึ่งมีผลการศึกษาของ ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปี ๒๕๔๒ ยืนยันว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแก่สังคมในระยะยาว ให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต ๗-๑๐ เท่า ทางคณะทำงานฯ จึงใคร่ขอให้พิจารณาข้อเสนอแนะ และมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ด้านนโยบาย
• สนับสนุนและผลักดันนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช.) ที่เห็นชอบในหลักการและแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ ๐-๖ ปี จำนวน ๖๐๐ บาท ต่อคน ต่อเดือน ในแบบถ้วนหน้า ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕
มาตรการเชิงป้องกันและช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ๑๙
• มีมาตรการเชิงรุก: ครอบครัว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและบุคลากรในการดูแลเด็กเล็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว รวมทั้งกระจายอุปกรณ์ป้องกันสำหรับเด็ก เพื่อคุ้มครองเด็กเล็กให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด ๑๙ น้อยที่สุด
• มาตรการลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเด็กเล็กจากการที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/สถานดูแลเด็กเล็กถูกปิด: รัฐต้องมีมาตรการดูแลด้านอาหารและส่งเสริมโภชนาการแก่เด็กเล็กอย่างเต็มที่ รวมถึงต้องมีการเสริมสร้างพัฒนาการให้แก่เด็กเล็กระหว่างที่รอศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ เปิดบริการ