วิพากษ์ พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าอยู่ตรงไหน?

วันที่ 24 พฤษภาคม 64 เครือข่ายเด็กเท่ากัน ถามหาความจริงใจรัฐบาล (ร่าง)พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 65 งบประมาณด้านสวัสดิการสังคม ถูกตัด – ลดลง ขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤต แถมด้วยการตกหล่น! นโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ..

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “วิพากษ์ พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 65 นโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า อยู่ตรงไหน?” มีผู้เข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็ก ผู้หญิงและสิทธิแรงงาน นักวิชาการ และตัวแทนพรรคการเมือง ในการเสวนาได้นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าไว้

คุณสุนี ไชยรส คณะทำงานฯ ได้เปิดประเด็นในภาพรวมว่า คณะทำงานฯ ได้ผลักดันนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้ามาจนกระทั้ง เกิดเป็นมติที่สำคัญ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 เห็นชอบในหลักการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าภายในปีงบประมาณ 2565 แต่ในงบประมาณรายจ่ายต่อเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ใน ร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ยังเป็นรูปแบบเดิม คือ ไม่ถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมโดยภาพรวม ถูกรัฐตัดออกลดลงเกือบ 10% ขณะที่สังคมไทย เช่น ภาคแรงงาน นั้นกำลังได้รับผลกระทบหนักมาก

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในที่ประชุมว่า หากมองภาพรวมของงบประมาณรายจ่าย ปี 65 กระทรวง  พม.ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น  เรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ในปีนี้ก็ได้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถ้วนหน้า น่าจะเป็นเพราะงบประมาณในภาพรวมรัฐบาลเก็บภาษีได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

การจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก รมต.พม.ได้หารือกับทางกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องทำการสำรวจให้ได้จำนวนเด็กเล็กที่แท้จริง ไม่เป็นจำนวนที่การคาดการณ์จะสามารถนำเงินส่วนอื่น ๆ ของกระทรวงที่ไม่สามารถดำเนินการในงานอื่น ๆ ได้ รวมทั้ง ของบประมาณกลางมาใช้ให้ครอบคลุมเด็กเล็กภายในปีงบประมาณ 2565

คุณเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า สถานการณ์โควิดก่อให้เกิด “แผลเป็น” ซึ่งมีผลในระยะยาว พบว่า เด็กเข้าถึงบริการสุขภาพลดลง ไป รพ.ได้ลำบากกว่าเดิม พัฒนาการที่ล่าช้าเพิ่มมากขึ้น ขาดระเบียบวินัย ขาดการสนับสนุนด้านโภชนการ มีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะพ่อแม่ตกงานต้องกลับภูมิลำเนาทำให้เด็กหลุดจากระบบ หลายครอบครัวที่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องขนาดของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น รัฐบาลต้องมีมาตรการเชิงรุกในเรื่องเหล่านี้

เรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า มติ กดยช.ผ่านออกมาแล้ว แต่ทาง รัฐมนตรี ยังไม่เอาเข้าใน ครม.  การที่ พม. บอกว่า จะหาเงินงบประมาณอื่นมาช่วยเด็กเหลือที่ตกหล่นให้ครบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกราว  80% ของงบ พม. ทั้งหมด การที่ตอบมาลักษณะดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ยาก

ฟังๆแล้วเหมือนจะมีข่าวดี  เแต่หมือนรัฐบาลตีเช็คเปล่างบกลาง เป็นการให้ความหวังหรือซื้อเวลา ขณะที่เด็กเป็นกลุ่มเปาะบางในวิกฤตโควิด-19 ระลอกสามนี้ รัฐควรช่วยและต้องหามาตรการเชิงรุกด้วยซ้ำไป เพราะวิกฤตระลอกนี้เปรียบเสมือนแผลเป็น และมีวงกว้างสำหรับเด็ก และน่าจะใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การออก พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในปี 2563 ยังไม่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ มาคราวนี้รัฐกำลังจะกู้เพิ่มอีก 700,000 ล้านบาท คงสร้างหนี้ให้กับลูกหลานในอนาคต…แต่การให้สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพทั้งด้าน IQ EQ รัฐบาลกลับมองไม่เห็นและมีข้ออ้างเดิมๆว่าเอาเงินที่ไหนมาจ่าย…?

ดร.สมชัย จิตสุชน  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สะท้อนว่า ข้อมูลจำนวนเด็กสามารถตั้งต้นได้จาก ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และการเชื่อมการทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข รพ.มีข้อมูลตั้งแต่เด็กเกิด ครอบคลุมจนถึงเมื่อเด็กย้ายเข้าไปสู่ชุมชน ชื่อเด็กจะปรากฎใน รพ.สต. ชุมชนยังมี อสม.ที่มีศักยภาพในการสำรวจจึงอยู่ในวิสัยที่รัฐทำได้หากกำหนดระยะเวลาทำงานชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญคือ “วิธีคิดของรัฐ” คณะรัฐบาลหรือ ครม.มีวิธีคิดในเรื่องนี้อย่างไร สถานการณ์โควิดที่มีความเปราะบางรุนแรง มีผลกระทบระยะยาว ถ้าเด็กได้รับการดูแลไม่ดี กระทบทั้ง IQ และ EQ กับเด็กระยะยาว งบประมาณสำหรับเรื่องนี้จึงควรห้ามขาดช่วง ไม่ควรใช้วิธีคิดแบบรัดเข็มขัดกับเรื่องนี้

ดร.สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมถือว่า ถูกตัด ลดไปจากวิธีคิดแบบรัดเข็มขัด นำมาสู่การมองว่า เรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าที่จะมองว่าเรื่องนี้เร่งด่วนหรือยัง “จะเป็นจะตายหรือยัง” ถ้าสำคัญ ก็ยังไม่ตัดงบ แต่ยังให้ไปตามระบบ คือ ไม่ถ้วนหน้า รัฐบาลชุดนี้นิยมให้แบบโปรโมชั่น  ฉะนั้นเงินที่กู้มาก็จะมาให้ลักษณะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ

#เด็กเท่ากัน