เกษตรเพื่ออาหารเด็กทุกมื้อ

อาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งต่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน เพราะนอกจากจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจของประเทศด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและอุดมสมบูรณ์จนสามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอเพื่อเลี้ยงประชากรภายในประเทศ และส่งออกนำรายได้มหาศาลสู่ประเทศ แต่อย่างไรก็ตามยังมีเด็กนักเรียนอีกจำนวนมากที่อยู่ในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดอยสูงของจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ที่ครอบครัวของเด็กนักเรียนมีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงเรียน ไม่สามารถเดินทางไปกลับได้ จึงต้องมาพักอาศัยพักนอนอยู่ที่โรงเรียนเพื่อที่จะให้สามารถได้ได้เรียนหนังสือเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ทำให้โรงเรียนต้องรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าอาหารทั้ง ๓ มื้อของเด็กที่ต้องพักค้างอยู่ที่โรงเรียน โดยที่งบที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ มีจำนวนน้อยและไม่เพียงพอ อีกทั้งโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่ต้องรองรับเด็กนักเรียนจากดอยต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายหัวค่าอาหารกลางวันเฉพาะชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงทางโรงเรียนจำเป็นต้องนำค่าหัวที่ได้มาเฉลี่ยให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ได้รับประทานด้วย ซึ่งทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก และคุณภาพอาหารก็ไม่ครบ ๕ หมู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการตามวัย และศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า


ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) ได้ดำเนินการระดมทุนหางบประมาณจากแหล่งทุนต่างๆเพื่อมาสนับสนุนให้โรงเรียนจัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ และสระแก้ว ได้รับประทานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ และพัฒนามาเป็นโครงการเกษตรเพื่ออาหารทุกมื้อของเด็กนักเรียนในปัจจุบัน แต่ทว่าจากการดำเนินงานที่ผ่านมา        มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) พบว่า โครงการเกษตรเพื่ออาหารทุกมื้อของโรงเรียนต่างๆ ยังขาดความต่อเนื่องและยั่งยืน เนื่องจากงบประมาณที่สนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินการ เมื่อโรงเรียนทำการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์แล้วก็นำเอาผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารทั้ง ๓ มื้อ ให้เด็กนักเรียนรับประทานทั้งหมด ทางมูลนิธิฯ จึงจำเป็นต้องระดมทุนเพื่อหาเงินมาสนับสนุนให้โรงเรียนในทุกๆปี จากสถานการณ์ดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงได้ทำการสรุปบทเรียนและพยายามหารูปแบบของแนวทางการทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารทุกมื้อและปลอดภัย ที่จะทำให้โรงเรียนสามารถมีงบประมาณหมุนเวียนในการที่จะดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารทุกมื้อและปลอดภัย ได้ต่อเนื่อง และสามารถที่จะอยู่ได้ด้วยตนเองได้ จึงได้ทดรองพัฒนารูปแบบของ “วิสาหกิจโรงเรียน” ร่วมกับทางโรงเรียน เช่น โรงเรียนบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้เป็นโมเดลของการดำเนินการโครงการเกษตรเพื่ออาหารทุกมื้ออย่างยั่งยืน โดยใช้เวลาในการพัฒนาโมเดลเป็นระยะเวลา ๓ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๖ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนบ้านแม่เงาสามารถพัฒนาโครงการเกษตรเพื่ออาหารทุกมื้อ จนกลายมาเป็นการทำโครงการเกษตรในรูปแบบ “วิสาหกิจโรงเรียน” ที่สามารถที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องอาหารให้กับเด็กนักเรียนได้มีอาหารรับประทานครบทั้ง ๓ มื้อ และสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในระหว่างเรียนได้อีกด้วย และโมเดลวิสาหกิจโรงเรียนที่ได้มาจากการพัฒนาโครงการร่วมกับทางโรงเรียนบ้านแม่เงานี้ ทางมูลนิธิจึงได้ดำเนินการจัดทำ “โครงการความมั่นคงทางอาหารเพื่อเด็กน้อยบนดอยสูงและปลอดภัย” ขึ้นเพื่อที่จะขยายแนวคิดไปสู่ ๒๐ โรงเรียนที่มีเด็กพักนอน และโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ในพื้นที่บนดอยสูง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับเด็กนักเรียนที่อยู่ในสภาวะยากลำบากให้มีความมั่นคงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และมีพัฒนาการทางร่างกายที่สมวัย มีความพร้อมในการการเรียนรู้ เพื่อที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้าต่อไป