ความเป็นมา

ปี พ.ศ. 2521

สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอข้อมูลว่าประเทศไทยมีเด็กที่เป็นโรคขาดสารอาหารถึงปีละ 5 แสนคน และไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคนต้องเสียชีวิต ข่าวนี้ทำให้สังคมหลายภาคส่วนหันมาสนใจปัญหาโภชนาการเด็กมากขึ้น ทั้งกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา และรวมถึงกลุ่มอริยาภา ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมตัวจัดทำโครงการแด่น้องคนเล็กของเรา เพื่อเผยแพร่ปัญหาเด็กขาดสารอาหารและรณรงค์หารายได้สนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน

ปี พ.ศ. 2522

สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง “สื่อมวลชนกับการพัฒนาเด็ก” ขึ้น ในการสัมมนาครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ กลุ่มส่งเสริมสื่อมวลชนเพื่อเด็ก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเผยแพร่ในเรื่องสื่อมวลชนกับเด็ก รณรงค์เพื่อให้เกิดสื่อที่ดี และส่งเสริมสนับสนุนสื่อที่ดีสำหรับเด็ก

ปี พ.ศ. 2524

มีองค์กรอาสาสมัครเอกชน 8 องค์กร และผู้ทรงคุณวุฒิที่สนใจปัญหาแรงงานเด็กได้มาหารือและเตรียมการร่วมกันในการ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานเด็กขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กที่เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันสมควร โดยมุ่งหวังที่จะพิทักษ์ปกป้องเด็กมิให้ถูกใช้แรงงานตรากตรำ และรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักในปัญหาแรงงานเด็ก

31 มีนาคม 2525

หลังจากแต่ละกลุ่มได้ดำเนินงานของตนเองมาระยะเวลาหนึ่ง และมองเห็นว่าการทำงานพัฒนาการเด็ก จะต้องดำเนินไปพร้อมๆ กันในทุกๆ ด้าน มิใช่เพียงด้านได้ด้านหนึ่ง หากรวมไปถึงการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญาและสังคม จะช่วยเอื้อให้เด็กเติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรม จึงได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น ภายใต้ชื่อ “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก”

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

ได้รับอนุญาตจดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมายจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และประกาศจากกระทรวงการคลัง ให้เป็นองค์กรสาธารณกุศล เมื่อปี พ.ศ. 2532 มูลนิธิฯ เป็นองค์กรที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กรอบด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยการทำงานในระดับรากหญ้า ระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อที่จะคิดค้นผลักดันการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยในช่วงแรกได้ดำเนินโครงการ 4 โครงการหลัก คือ โครงการแด่น้องผู้หิวโหย โครงการแรงงานเด็ก โครงการครอบครัวและชุมชนพัฒนา และโครงการส่งเสริมสื่อมวลชนเพื่อเด็ก

ความมุ่งมั่น

1. ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการรอบด้านตามวัย ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคม

2. ศึกษาและเผยแพร่ปัญหาและผลกระทบที่มีต่อเด็กด้านต่างๆ ให้สังคมรับทราบอยู่เสมอ

3. ริเริ่ม พัฒนาและและสนับสนุนกิจกรรม เพื่อพัฒนาเด็กแก่ชุมชน กลุ่มบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4. รณรงค์ให้ผู้ใหญ่ทุกคนช่วยกันสร้างชีวิตเยาว์วัยที่ผาสุกแก่เด็ก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาว

กลุ่มเป้าหมาย

1. เด็กในสภาวะวิกฤติชนบท ได้แก่ เด็กขาดสารอาหาร เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กขาดโอกาสทาง การศึกษา

2. แรงงานเด็ก

3. เด็กในสภาวะวิกฤติ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. เด็กที่อยู่ในสภาวะและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เด็กในชุมชนแออัด เด็กที่ถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆ เด็กในสถานการณ์รุนแรง เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองและภัยพิบัติต่างๆ

กิจกรรมหลัก

การป้องกันและช่วยเหลือ สนับสนุนทุนการศึกษา ทุนประกอบอาชีพ และทุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารทุกมื้อ
ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิต ความคิด ศักยภาพ ของเด็กและครอบครัว สงเคราะห์เบื้องต้นกับครอบครัวที่ประสบปัญหาและอยู่ในสภาวะยากลำบากให้ช่วยเหลือตนเองได้ในระยะยาว

การคุ้มครองสวัสดิภาพ รับแจ้งเหตุ สงเคราะห์ ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือเด็กและที่พักชั่วคราวสำหรับเด็กกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหา เช่น เด็กถูกละเมิดสิทธิ ถูกทารุณกรรม ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงาน

ศึกษา วิจัย และเผยแพร่ปัญหาเด็กในชนบทและในชุมชนเมือง ที่เกิดขึ้นจากครอบครัว ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันคิดและพัฒนารูปแบบในการแก้ไขปัญหาเด็ก อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

การสร้างนวตกรรมการพัฒนาเด็ก โดยกระบวนการ “พื้นที่สร้างสรรค์” และ “สื่อสารสร้างสรรค์” สำหรับเด็ก ได้แก่ กิจกรรมการเล่นเพื่อการพัฒนาเด็ก และส่งเสริมกระบวนการอบรมพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชนทั่วประเทศ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างคุณค่าในตนเอง

เสริมความเข้มแข็งของชุมชน และสร้างอาสาสมัครชุมชน ผู้ปกครอง อาสาสมัครเด็กช่วยเด็ก ส่งเสริมบทบาท “กลไกลชุมชนปกป้องเด็ก” เพื่อดูแลปกป้องเด็กในชุมชน

การผลักดันกลไกและนโยบาย พัฒนากฎหมายและกระบวนการคุ้มครองเด็ก รณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองเด็ก

พื้นที่การดำเนินงาน

กรุงเทพมหานคร
สมุทรปราการ
สมุทรสาคร
แม่ฮ่องสอน
ตาก
กาญจนบุรี
สระแก้ว
ฉะเชิงเทรา
ศรีสะเกษ
มหาสารคาม
สุรินทร์
บุรีรัมย์
อุบลราชธานี
เลย
ปัตตานี
ยะลา
นราธิวาส
และพื้นที่รับแจ้งเหตุทั่วประเทศ

บางส่วนของรางวัล แห่งแรงใจ (Awards)

ปี 2552 พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก

กิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ เรื่องการเล่นเพื่อการพัฒนาเด็ก ได้รับการขยายแนวคิดไปสู่การเรียนรู้เรื่อง “พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก” จนได้รับประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ในปี 2552

ปี 2547 รางวัลชนะเลิศ

เรื่องการทำงานที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมมายาวนานของประเทศไทย และ ติดอันดับ 1 ใน 8 ประเทศของ Asia Pacific NGO Awards 2004

ปี 2546 รางวัลดีเด่น

รายการวิทยุสโมสรเพื่องาน ได้รับรางวัล “ผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน” ครั้งที่ 20
จากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.)

ปี 2545 รางวัลชมเชย

สื่อการ์ตูนเพื่อแรงงานเด็ก “หนังสือการ์ตูนที่ผลิตขึ้น เพื่อส่งเสริมสังคม ระดับอายุ 13 ปีขึ้นไป” และรางวัล “สื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน” จากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพ และพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.)

ปี 2542 รางวัลชนะเลิศ

การออกแบบสนามเด็กเล่นนานาชาติ จาก International Association for the child’ s Right to Play

ปี 2528 สปอตโทรทัศน์ชุด “เด็กกินดิน”

โครงการแด่น้องผู้หิวโหย ได้สร้างกระแสความสนใจแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหารอย่างกว้างขวาง และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการระดับชาติ ในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก